พัฒนาการระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ปี ค.ศ. 2021

หลังจากคลุกคลีอยู่กับแวดวงลีนุกซ์มายาวนาน มาดูกันว่าสิ้นปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้ลีนุกซ์มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

  • ไมโครซอฟต์หันมาเป็นมิตรกับลีนุกซ์มากขึ้น สังเกตได้จากการพัฒนา Microsoft Windows Subsystem for Linux ที่เหมือนเป็นการนำเอาโอเอสลีนุกซ์มาหลอมรวมเข้ากับระบบปฏิบัติการ Windows นั่นเอง ซึ่งผมคิดว่าไมโครซอฟต์คงมั่นใจแล้วว่าวินโดวส์ไม่สามารถเอาชนะลีนุกซ์ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตรงกันข้ามหากไมโครซอฟต์เดินกลยุทธ์ผิด อาจพลาดท่าโดนลีนุกซ์ย้อนศรเล่นงานอย่างหนัก เหมือนที่โดน ChromeBook โจมตีเมื่อ 2-3 ปีก่อน อย่ากระนั้นเลย เราก็จัดการยัดเจ้าลีนุกซ์เข้าไปในวินโดวส์ซะเลย 555+ (ไมโครซอฟต์ ไม่ได้กล่าว)
  • การใช้งานลีนุกซ์ทางด้านเดสก์ทอปสมบูรณ์อย่างมาก ซึ่งหลากหลายค่ายลีนุกซ์ต่างพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองการใช้งานได้อย่างราบรื่นที่สุด หากพิจารณาจากความนิยมของผู้ใช้งานจะพบว่าค่ายต้นแบบลีนุกซ์ Ubuntu Debian และ Arch Linux มีคนใช้งานด้านเดสก์ทอปมากน้อยเรียงตามลำดับ ส่วนเดสก์ทอปลีนุกซ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดมีดังนี้
    1. MX Linux พัฒนามาจาก Debian
    2. Manjaro พัฒนามาจาก Arch
    3. Linux Mint พัฒนามาจาก Ubuntu
    4. Pop! OS พัฒนามาจาก Ubuntu
    5. Elementary พัฒนามาจาก Ubuntu

ข้อดีของการใช้งานเดสก์ทอปลีนุกซ์ก็คือ เมื่อติดตั้งเสร็จสามารถใช้งานโปรแกรมพื้นฐานโดยทั่วไปได้ครบในขั้นตอนเดียว

  • สำหรับลีนุกซ์บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ทั่วไปต้องยกความดีความชอบให้กับ Ubuntu เลยครับ เพราะทุกโปรแกรมที่พัฒนาเพื่อให้ทำงานทางด้านเซิร์ฟเวอร์ มักจะพัฒนาให้รองรับค่าย Ubuntu เสมอ หรือบางโปรแกรมพัฒนามาเพื่อ Ubuntu อย่างเดียวเลย เคยเปลี่ยนไปใช้ลีนุกซ์ตัวอื่น แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาใช้ Ubuntu Server เหมือนเดิม
  • โดยประสบการณ์ส่วนตัว สำหรับการใช้งานเดสก์ทอปลีนุกซ์ในปัจจุบัน สามารถใช้งานแทนเครื่องพีซีบนระบบวินโดว์สได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะงานบางอย่างเท่านั้นที่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เช่น โปรแกรมเทรดหุ้น efinance Thai หรือ MetaTrader 4 ที่ไม่สามารถทำงานผ่านโปรแกรมอีมูเลเตอร์ Wine ได้ ดังนั้นหากเราใช้งานเครื่องพีซีทั่วๆไปที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมเฉพาะทางแล้ว ท่านสามารถใช้งานลีนุกซ์แทนวินโดว์สได้เลย ส่วนเดสก์ทอปลีนุกซ์ค่ายไหนจะเหมาะกับเราก็ต้องทดลองเล่นด้วยตัวเราเอง สำหรับผมใช้งานด้านเขียนโปรแกรม รีโมทจัดการลีนุกซ์เซิร์ฟเวอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต และพิมพ์เอกสาร ทดลองใช้ Linux Mint Cinnamon แล้วเวิร์กสุด อีกอย่างการเลือกใช้เดสก์ทอปลีนุกซ์ต้องดูสเปกเครื่องพีซีของเราด้วยครับ หากเครื่องพีซีมีแรม 2 GB. หรือต่ำกว่า ควรเลือกใช้ Manjaro, MX Linux Xfce หรือ Xubuntu จะค่อนข้างราบรื่นที่สุด แต่ถ้าหากมีแรมตั้งแต่ 4 GB. ขึ้นไป ควรเลือกใช้งาน Linux Mint Cinnamon เพราะใช้งานไกล้เคียงกับระบบปฏิบัติการ Windows มากที่สุด อีกทั้งระบบก็ค่อนข้างเสถียร แอพพลิเคชันต่างๆสมบูรณ์ตัวอย่างเช่น Remote Desktop Clients ที่ติดตั้งกับลีนุกซ์ตัวอื่นค่อนข้างยาก และตั้งค่าจอภาพที่สองได้ราบรื่นกว่าตัวอื่นๆ ส่วน Pop! OS ก็ใช้งานกับฮาร์ดแวร์พิเศษอย่างพวกการ์ด Nvidia และ Elementary เท่าที่ทดลองใช้งาน ผมว่าเหมาะกับโน้ตบุ๊กหน้าจอสัมผัส หรือพวกแท็บเล็ตที่อยากติดตั้งลีนุกซ์ แต่มีบั๊กเล็กๆน้อยๆอยู่หลายจุดเหมือนกันครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *