Category Archives: Raspberry Pi

Raspberry Pi 4 – SmartTV & WiFi Router

เนื่องจากผมมีเจ้าราสเบอรี่พาย 4 และแอลซีดีทีวีใช้งานอยู่ แต่เป็นทีวีธรรมดาไม่ใช่สมาร์ททีวี พอดีกล่องสัญญาณดาวเทียมเสีย ก็เลยนำราสเบอรี่พายมาต่อเข้ากับทีวี และใช้เน็ตจากโทรศัพท์มือถือผ่านพอร์ต USB เพื่อใช้งานเป็นสมาร์ททีวี ซึ่งก็ใช้งานได้เป็นอย่างดี และหลังจาก Ubuntu ออกเวอร์ชัน 22.04 ทำให้เราใช้งานราสเบอรี่พายเป็น WiFi Router ได้สะดวกสบาย ไม่ต้องไปใช้ Command Line คอนฟิกให้ยุ่งยาก ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่ลองก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยเวิร์กเลย

ระบบอินเตอร์เน็ตที่จำเป็นต้องใช้งานจากโทรศัพท์มือถือนั้นก็เนื่องมาจาก บ้านพักอาศัยอยู่ในเขตชานเมืองอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ยังมาไม่ถึง อีกทั้งในปัจจุบันอินเตอร์เน็ตจากมือถือก็แรงพอที่จะใช้งานภายในบ้านได้สบายๆ โดยเฉพาะเครือข่ายของทรูมูฟเอช และเอไอเอสที่ผมใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอินเตอร์เน็ตก็ใช้โปรเน็ตคงที่ไม่ลดสปีด 15 Mbps เดือนละ 100-200 บาท หากท่านผู้อ่านสนใจโปรพิเศษแบบนี้ก็ค้นหาวิธีการสมัครจากยูทูปดูครับ

หากเราจะใช้ประโยชน์เพิ่มเติมด้วยการให้ราสเบอรี่พายแชร์อินเตอร์เน็ตให้อุปกรณ์อื่นๆ เช่นโน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ตใช้งานได้ด้วย ควรจะต้องเพิ่มไวฟายเราท์เตอร์อีกหนึ่งตัว เพื่อไม่ให้เครื่องลูกข่ายอื่นๆเกิดอาการเน็ตกระตุก เมื่อเราใช้งานราสเบอรี่พายทำงานหนักๆ เช่น ดูยูทูปบนเครื่องทีวี เป็นต้น

Continue reading

Raspberry Pi 4 – Home WiFi Router

บทความนี้จะเป็นการแนะนำการติดตั้งราสเบอรี่พาย 4 เพื่อใช้เป็น Home WiFi Router ซึ่งจะได้ประโยชน์สองอย่างคือ ใช้ราสเบอรี่พายเป็น Desktop PC และเป็น WiFi Router ไปด้วยในตัว

อุปกรณ์ที่ใช้งานมีดังนี้
1. Raspberry Pi 4 (RAM 4 GB) ติดตั้ง Ubuntu Desktop 22.04
ใช้งานเป็นเครื่องเดสก์ท็อป และแชร์อินเตอร์เน็ตไปในตัว
2. ไวฟาย TP Link ผมใช้รุ่น TL-WR840N
เป็นเร้าเตอร์รุ่นเก่าหน่อย แต่ยังใช้งานได้เป็นอย่างดี
3. โทรศัพท์มือถือ Huawei GR5
โทรศัพท์ก็รุ่นเก่าเช่นกัน แบตเตอรี่เก็บไฟไม่อยู่แล้ว เสียบสาย USB เข้ากับราสเบอรี่พายเพื่อแชร์เน็ตไว้ตลอดก็ใช้งานได้เป็นอย่างดี ส่วนแพคเกจอินเตอร์เน็ตควรเป็นเน็ตคงที่ไม่ลดสปีด เช่น 15/20/30 Mbps เดี๋ยวนี้ค่าเน็ตมือถือรายเดือนไม่ค่อยแพงแล้ว ตกเดือนละ 100/150/200 บาท แล้วแต่เราจะเลือกใช้งาน สำหรับผมมีซิมเน็ตทั้งสามค่าย คือ AIS TrueMove และ DTAC เพื่อใช้ทดสอบสัญญาณอินเตอร์เน็ต
4. โน้ตบุ๊ก ASUS X202E (ไม่ต้องมีก็ได้)
หากไม่มีโน้ตบุ๊กว่างๆอยู่ก็ไม่ต้องใช้ แต่บังเอิญผมมีเครื่องนี้ว่างอยู่ ไม่รู้จะเอาไปใช้อะไร? ก็เลยจัดการติดตั้งลีนุกซ์ Ubuntu Server 20.04 ลงโปรแกรมเพื่อทดสอบเว็บเซิร์ฟเวอร์ และโปรแกรม Pihole เข้าไว้ ถึงแม้จะเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นเก่ามาก แต่ก็ยังใช้งานได้ราบรื่นดี

Continue reading

Raspberry Pi 4 ใช้ทำเป็น Home WiFi Router

เคยสั่งซื้อบอร์ด Raspberry Pi 4 จากเว็บ AliExpress เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) ช่วงนั้นไม่แพงมากประมาณ 2,500 บาท ราคารวมบอร์ด, เมมโมรี่การ์ด 64 GB, กล่องราสเบอร์รี่พาย และอะแดปเตอร์จ่ายไฟเรียบร้อยแล้ว แต่ตอนนี้ราคาปรับตัวขึ้นไปเกือบ 2 เท่า

เดิมใช้งาน Raspberry Pi อยู่บนโอเอส Ubuntu 20.04 ในโหมด Desktop Computer ซึ่งก็พอทำงานได้ แต่การใช้งานบางอย่างก็ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร หลังจากที่ Ubuntu ออกเวอร์ชัน 22.04 นำมาทดลองใช้งานแล้วราบรื่นดีมาก และประการสำคัญคือ นำมาทำเป็น Home WiFi Router ได้เป็นอย่างดี

ก่อนอื่นขออธิบายรายละเอียดการใช้งานกันก่อน เนื่องจากที่บ้านอยู่นอกเขตของอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ จึงเลือกใช้งานอินเตอร์เน็ตจากเครื่องโทรศัพท์มือถือ หากต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตจากอุปกรณ์อื่นๆในบ้าน เช่น โน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต ก็จะแชร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือไปใช้ แต่ก็มีปัญหาหลายอย่างเหมือนกันกับวิธีการนี้ กล่าวคือ มือถือบางยี่ห้อตั้งเวลาปิดอัตโนมัติไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน เปิดแชร์ไวฟายไว้ตลอดเวลาไม่ได้ และการเปิดแชร์ไวฟายทิ้งไว้ก็เป็นการสูบแบตเตอรี่ของมือถือให้หมดไปอย่างรวดเร็ว

Continue reading

ระบบปฏิบัติการสำหรับ Raspberry Pi 4

หลังจากใช้งานบอร์ด Raspberry Pi 4 (4 GB) มานานพอสมควร วันนี้จะมาแนะนำระบบปฏิบัติการที่สามารถติดตั้ง และทำงานได้ราบรื่นที่สุดสำหรับเจ้าบอร์ดคอมพิวเตอร์จิ๋ว Raspberry Pi 4 กัน ซึ่งต่อไปจะขอเรียกเจ้า Raspberry Pi 4 (4 GB) สั้นๆว่า “ราสเบอรี่ พาย”

การใช้งานเป็น Home Server
สำหรับราสเบอรี่พายนี้สามารถใช้งานเป็นโฮมเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างดีทีเดียว เช่น สามารถใช้เป็น Pi-hole Server, Database Server, เว็บเซิร์ฟเวอร์ ในเครื่องเดียวกันได้สบายๆเลย ระบบปฏิบัติการที่ดีสุดสำหรับโฮมเซิร์ฟเวอร์คือ Ubuntu Server ครับ

การใช้งานเป็น Desktop Client
ช่วงที่ราสเบอรี่พายเปิดตัวออกมาแรกๆ ระบบปฏิบัติการด้านเดสก์ท็อปทุกตัวมีบักเล็กๆน้อยๆแตกต่างกันไป แต่ช่วงหลังบั๊กต่างๆถูกปรับปรุงดีขึ้นแล้ว สำหรับงานด้านเดสก์ท็อป Manjaro Linux ทำงานได้เวิร์กที่สุด สามารถ connect เข้ากับลําโพงบลูทูธได้อย่างดี ใช้โปรแกรม Remmina รีโมทไปเครื่องวินโดว์สได้ราบรื่น ดูหนัง ฟังเพลง ได้รื่นสุดๆ

การใช้งานเป็น Windows Client
สำหรับบางท่านที่งานส่วนใหญ่อยู่บนระบบปฏิบัติการวินโดว์สก็สามารถติดตั้ง Windows 10/11 ลงบนราสเบอรี่พายได้ (ผมเลือกเป็น Windows 10 เพราะกังวลว่า Windows 11 บนราสเบอรี่พายจะทำงานช้า) แต่ต้องยอมรับก่อนว่าบอร์ดราสเบอรี่พาย บนระบบปฏิบัติการ Windows ทำงานได้ช้ากว่าระบบปฏิบัติการ Linux หากเปิดโปรแกรมเล่นภาพยนต์ HiDef บนราสเบอรี่พาย ภาพอาจจะเกิดการกระตุก ไม่ราบรื่น แต่ทำงานอย่างอื่น เช่น เปิดเว็บบราวเซอร์ พิมพ์เอกสารเวิร์ด เอกซ์เซล ได้ปรกติ และช่วงหลังผู้พัฒนาโปรแกรมหลายๆค่ายเริ่มปล่อยโปรแกรมที่เป็นเวอร์ชัน Arm64 บิท ออกมาเยอะแล้ว บนวินโดว์สราสเบอรี่พาย ท่านจะสัมผัสได้เลยว่า การรันโปรแกรมบนโหมด x86 กับ AArch64 นั้นมีความเร็ว และความเสถียรต่างกันเยอะ

หลังจากติดตั้งวินโดว์สบนราสเบอรี่พายเรียบร้อย หากเราต้องการใช้ฟีตเจอร์ต่างๆของวินโดว์สได้อย่างสมบูรณ์ก็สามารถซื้อ CD-Key Windows 10 บนเว็บออนไลน์ที่ราคาไม่แพงมา Activate ซึ่งผมทดลองแล้วมันแอคติเวทได้จริงครับ จากนั้นเจ้าราสเบอรี่พายก็จะทำงานบนวินโดว์ส 10 ได้อย่างราบรื่นเลยทีเดียว

การติดตั้งโอเอสสำหรับ Raspberry Pi 4

หลังจากที่ได้สัมผัส Raspberry Pi มาประมาณครึ่งเดือน ทดลองเกือบทุกโอเอสที่มันพอจะลงได้ตั้งแต่ Raspberry Pi OS x32-x64, Ubuntu Server x32-x64, Ubuntu MATE x64, Manjaro x64 คิดว่าตัวที่น่าจะเวิร์กสุดสำหรับการใช้งานด้านเดสก์ทอปก็น่าจะเป็น Raspberry Pi OS x64 เพราะผมใช้ Raspberry Pi รุ่นที่เป็นแรม 4 GB. ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการทำงานของเจ้า Raspberry Pi แบบ 64 บิท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับโอเอสที่ไม่ได้ลองก็เหลือแค่ Windows 10 เพราะคาดว่ามันคงไม่เวิร์กแน่ๆ

วิธีการติดตั้งโอเอสลงเมมโมรี่การ์ดก็ดาวน์โหลดอิมเมจโอเอส จากนั้นใช้โปรแกรม Rufus เขียนลงเมมโมรี่การ์ด ซึ่งความจุใช้ได้ทั้ง 16 32 และ 64 GB. หลังจากติดตั้งโอเอสและโปรแกรมใช้งานทั่วไป ก็จะกินเนื้อที่เมมโมรี่ไปประมาณ 10 GB. ส่วนโปรแกรม Rufus ก็แนะนำให้ใช้เป็นเวอร์ชัน Portable ครับ

Raspberry Pi OS 64 bit Download
https://rufus.ie

หลังจากติดตั้งโอเอสเรียบร้อยก็นำไปใส่ในช่อง SD Card ของบอร์ดราสเบอร์รี่ หากพบปัญหาบูตแล้วหน้าจอทีวีมืดไม่มีภาพออกมา ให้แก้ไขไฟล์ config.txt ในพาร์ทิชัน boot

Continue reading