ดับไม่เหลือ กฎแห่งไตรลักษณ์ องคุลีมาล

พระบรมโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส

ตั้งแต่ในสมัยที่พระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนายสำเภาหนุ่มแบกมารดาว่ายข้ามมหาสมุทร และได้ตั้งปณิธานปรารถนาพุทธภูมิ (ตั้งจิตอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต) จนกระทั่งผ่านไป ๙ อสงไขย จึงได้เสวยพระชาติเป็นสุเมธพราหมณ (สุเมธดาบส)

อหนฺเตน สมเยน ณ สมัยนั้น เราตถาคตได้เกิดเป็นพราหมณมาณพ นามว่า สุเมธพราหมณในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์นับด้วยโกฏิเป็นอันมาก เป็นผู้เชี่ยวชาญในเชิงมนต์ เฟื่องฟุ้งรู้จบแจ้งในไตรเพทศาสตร์ศิลปะสิ้นทุกประการ วันหนึ่งเรานั่งอยู่ ณ ภายในห้องระโหฐานเป็นที่สงัด จึงรำพึงว่า ทุกฺโข ปุนพฺภโว นาม ขึ้นชื่อว่ากาลก่อนภพกำเหนิดเป็นรูปกายขึ้นใหม่นี้ ย่อมเป็นที่มีกองทุกข์ท่วมทับหฤทัยเที่ยงแท้ อนึ่งแม้เมื่อชนม์ชีพแตกพรากจากกายทำลายร่างสรีราพยพนั้นเล่า ก็เป็นกองทุกข์ถึงที่สุด ใหญ่ยิ่งกว่าทุกข์ทั้งปวง การก่อภพใหม่นี้เป็นทุกข์อันใหญ่หลวง เพราะก่อชาติกำเนิด ชาติหากให้เกิดชรา ชราให้เกิดพยาธิ มรณะ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ทั้งนี้ๆมีแล้วก็ความที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บไข้ ไม่ตาย ก็คงมี ความทุกข์ ความที่ดับทุกข์ก็คงมีเป็นมั่นคง ควรที่เราจะประสงค์เจาะจงเสาะหาความที่ดับชาติ ชรา พยาธิ มรณะนั้นให้จงได้ ยนฺนูนิมํ ปูติกายํ ไฉนหนอ เราพึงทอดทิ้งซึ่งร่างกาย อันเน่าเปื่อยปฏิกูลนี้เสียแล้วและไปเกิดเสียกระไร เราอย่าหนักหน่วงห่วงใยอยู่ด้วยร่างกายเครื่องปฏิกูลพึงเกลียดนี้เลย หนทางที่จะพึงเพิกเฉยเลยหลีกปูติกายนี้คงจักมี แต่ก็เป็นที่ทางนั้นอันฝูงสัตว์จะพึงได้โดยยาก จำเราจะพึงพยายามจงมากในกิจที่จะเสาะแสวงให้พบแห่งหนทางอันนี้ จักพึงพ้นจากภพ จากชาติ ความทุกข์ภัยพยาธิมีแล้วฉันใด ความสุขก็คงมีเช่นเดียวกัน เมื่อภพกำเนิด คือความเกิดมีแล้ว วิภวะ ความที่ไม่ก่อกำเนิด เกิดเป็นร่างกายก็คงมี เป็นที่ควรอันสัตว์พึงปรารถนาเหมือนฉะนั้น

เอวมาหํ จินฺตยิตฺวาน เราตถาคตครั้งนั้น เมื่อคิดฉะนี้แล้ว จึงเผยคลังทรัพย์นับด้วยอเนกโกฏิประมาณ ออกบริจาคทานแก่ยาจกวณิพกอนาถาหาที่พึ่งมิได้ทั้งปวงนั้นสิ้นเสร็จแล้ว ก็ออกสู่ประเทศป่าหิมพานต์ เข้าไปสู่ที่ใกล้เชิงชานธรรมิกบรรพต แต่งตั้งบรรณศาลาอาศรมบทเป็นที่อาศัย สร้างพรตพรหมจรรย์อันอุดมพ้นโทษ ๕ ประการ ประกอบด้วยคุณ ๘ เป็นที่ควรกิจกสิณบริกรรม สำหรับทำอภิญญาฌานสมาบัติให้บังเกิด เสร็จแล้วก็เปลื้องผ้าสาฎกอันเป็นโทษ ๙ สถาน ทรงนุ่งผ้าเปลือกป่านและคากรองอันประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ แล้วเราก็ละเสียซึ่งบรรณศาลาวิศาล อันอาเกียรณ์ไปด้วยโทษ ๘ ประการ เข้าไปอาศัย ณ สถานร่มไม้รุกขมูล อันสมบูรณ์ด้วยคุณ ๑๐ มีเว้นการปลูกพืชพรรณธัญญาหารเป็นต้น เราได้เก็บแต่ผลที่หล่นลงเองเป็นประมาณ รับประทานเป็นยาปนมัต เสร็จนิสัชชนะสถิตปฏิบัติโดยทางกสิณานุโยค พยายามอยู่ในจงกรมสถานไม่นาน ก็ได้ลุอภิญญาสมาบัติ ๙ แต่ภายในสัปตวาร ๗ วัน

เอวมฺเม สิทฺธิปตฺตสฺส ครั้นเมื่อเราโพธิสัตว์ ได้สำเร็จอภิญญาฌานสมาบัติบริบูรณ์ดี ด้วยวสี ๕ เชี่ยวชาญชำนาญแล้ว และอยู่จำเนียรมา ครั้งนั้นก็เป็นปฐมกาลภายในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้เป็นพระบรมโลกนายกแล้ว แต่เรายังไม่เห็นซึ่งนิมิตมีในกาลทั้ง ๔ ก่อน คือกาลเมื่อสมเด็จพระทีปังกรปฏิสนธิ และประสูติ และบรรลุสัมโพธิ และประทานเทศนาพระธรรมจักร เพราะเราเพลิดเพลินเจริญฌานเป็นการหนักยิ่งนักในจิตอยู่ จึงมิได้เห็นมิได้รู้ ด้วยมิได้ใฝ่ใจวิจารณ์ดูซึ่งเหตุอื่น ต่อกาลเมื่อหมู่มหาประชาชนเป็นอันมาก หากอาราธนาพระตถาคตเจ้าเข้ามาแต่ปัจจันตประเทศเป็นเหตุมหาโกลาหล เพราะประชุมชนชื่นชมโสมนัสจัดแจงแต่งทางแผ้วถาง เกลี่ยมูลพูนถมระดมกันกระทำทางอยู่

ก็ ณ สมัยนั้น พอเราผู้เป็นชฎิลดาบสมีตบะอันสูงเพราะบรรลุฟากแห่งอภิญญา เที่ยวจาริกมาทางอากาศ ได้เห็นประชาชนประชุมอยู่เป็นหมู่มากหลากประหลาด ล้วนรื่นเริงบันเทิงจิตน่าพิศวงเราจึงลงจากคัคฆณัมพรห้องเวหาศหาว มีพจนะประภาษถามข่าวคราวชาวมนุษย์หมู่นั้น ด้วยคำประพันธคาถาว่า

ตุฏฺฐหฏฺโฐ ปโมทิโต เวทชาโต มหาชโน กสฺส โสจยติ มคฺคํ อญฺชสํวตฺตมานยนํ ความว่า มหาประชาชนชื่นรื่นเริงบันเทิงจิต ชวนกันประกอบกิจแผ้วถางทางปฐพีโสภโณภาส เพื่อบุคคลผู้ใดจะจรมา

เต เม ปุฏฺฐํ บรรดาชนเหล่านั้นได้ฟังถาม จึงแจ้งความแก่เราว่าสมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้อนุตตรโลกนายกยอดบุคคลอุบัติในโลก ณ กาลนี้ จึงข้าพเจ้าทั้งหลายชวนกันทำทางแผ้วถาง เพื่อประโยชน์ให้เป็นที่เสด็จพุทธดำเนิน ณ สถลมารควิถีนี้

ปีติ ๕ เกิดแก่พระองค์เมื่อได้สดับว่า พระพุทธเจ้าบังเกิดแล้ว
ขณะนั้น เราชฎิลฤาษีได้สดับพระพุทธนามว่า พุทฺโธ อุปฺปนฺโน พระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วในโลกเท่านั้น ปิติ ๕ ประการก็บังเกิดแก่เราโพธิสัตว์ ด้วยอำนาจศรัทธาประกอบด้วยญาณโสมนัส เราจึงคำนึงว่ากาลนี้ก็ควรที่จะหว่านพืชเพื่อผล ขณะนี้ก็เป็นมงคลขณะบังเกิดมี หาควรที่จะมาละเมินเสียไม่ คิดฉะนี้แล้ว จึงว่ากะชนเหล่านั้นว่า แม้ถ้าท่านชำระทางถวายพระพุทธเจ้าละก็ จงให้โอกาสที่ควรจะชำระแก่เราสักแห่งหนึ่งเถิด เราก็มีศรัทธาจิตบังเกิดปรารถนาจะใคร่ทำทางถวายเป็นพุทธบูชา แต่พระพุทธเจ้าบ้าง ครั้งนั้นชนทั้งหลายเห็นว่าเป็นฤาษีมุนีมีตบะมาก จึงยกส่วนทางที่ทำยาก ลำบากด้วยเปือกตมต้องถมพูนให้มูลเสมอขึ้นนั้นให้แก่เรา เราก็มีอุตสาหะตั้งใจประกอบการ มีจิตวารรำพึงพระพุทธนามว่า พุทโธๆ นั้นเนื่องนิตย์เปลื้องหนังนิสิทน์ออกผูกทำเป็นถุงกระทอห่อหามหิ้ว ขนซึ่งมูลดินมาถมในที่ๆลาดลุ่มเป็นเลนเหลวอยู่นั้น ยังมิทันที่จะตลอดเหลืออยู่ยาวประมาณชั่วตัวบุรุษ พอจวนเวลาสมเด็จพระพุทธทีปังกรศาสดา เสด็จพาพระขีณาสวสงฆ์บริวาร ประมาณ ๔ แสนมาใกล้จะถึงเสียงศัพท์บรรเลงอื้ออึงด้วยทวยเทพสุราสุรคณานิกร มหาชนอเนกแน่นทำปัจจุคมนานำเสด็จพระพุทธดำเนินครั้งนั้น วชนฺติ เภริโยพหู บางหมู่ก็ประโคมดุริยดนตรีแตรสังข์กังสดาล ฆ้องกลองก้องสนั่นศัพท์แซ่ซร้องสาธุการ เอิกเกริกด้วยความโสมนัสทั้งมนุษย์และเทพยดา เทพยดามนุษย์ก็แลเห็นกัน ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างมีกรประณมมิได้คลายเคลื่อน แลละลานเลื่อนตามเสด็จพระพุทธดำเนินมา ฝูงเทพยดาก็ประโคมทิพยดนตรี หมู่มนุษย์ก็ประโคมดีดสีบรรดามีของมนุษย์ดำเนินนำตามเสด็จพระพุทธลีลา ฝูงเทพยดาก็โปรยปรายทิพยบุบผามีดวงดอกทิพยมณฑารพโกสุมเป็นประธาน ลอยเลื่อนเกลื่อนตามทั่วทิศนุทิศ ณ เบื้องบนนภากาศหมู่มนุษย์ชาติก็ยกขึ้นซึ่งสักการบูชาล้วนเครื่องหอมแห่ห้อมล้อมจรลีตามเสด็จพระพุทธดำเนินมา

เกเส โอมุญฺจิตฺวาหํ ตทา ณ กาลนั้น จึงเราผู้ฤาษีสุเมธมหาสัตว์ ก็ได้ทรงทำอธิการาภินีหารอธิษฐานอุทิศชีวิตถวายแก่พระพุทธองค์ ปลดเปลื้องชฎาสยาย พระเกศาลาดผ้าเปลือกไม้ กับทั้งหนังนิสิทน์ลง ณ เบื้องบนเปือกตมแล้ว ก็ทอดกายนอนคว่ำหน้าลงต่ำถนนที่ขาดลาดลุ่มเป็นเลนเหลว อันถมทำยังไม่แล้วทันนั้นตั้งพระทัยคำนึงนึกว่า ขออาราธนาพระพุทธองค์จงทรงพระมหากรุณาพาพระขีณาสวสงฆ์ทั้ง ๔ แสนพระองค์ เสด็จทรงย่างพระบาทดำเนินไปบนกายแห่งข้าพระองค์เถิด จะได้เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่ข้าพเจ้า พระองค์อย่าได้หลีกลงเหยียบลุยเลนอันเหลวนั้นเลย เมื่อเรานอนคำนึงอยู่เหนือพื้นปฐพีดังนี้

ครั้งนั้น เบื้องว่าจะปรารถนาหน่วงเอาอมตธรรมกำจัดกิเลสเสียให้ขาดจากสันดานในวันนั้นก็จักได้ ก็แต่ว่าเรามาคิดไปว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยการที่ทำอมตธรรม ให้เป็นธรรมอันแจ่มใสแก่ตนที่บุคคลอื่นไม่รู้แก่เรา เราจักถึงแก่ความที่ตนได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้า ปรากฏแจ้งในโลกและเราจักมีประโยชน์อะไรด้วยการที่ข้ามโอฆสงสารได้แต่ผู้เดียว ด้วยแสดงปุริสพละ เราจะถึงความที่ตนเป็นพระสัพพัญญูผู้ข้ามโลกแล้ว จะยังสัตว์ทั้งหลายกับทั้งเทวโลกให้ข้ามได้ด้วยแล้ว ด้วยการที่ทำอธิการาภินีหารได้ ด้วยแสดงปุริสพละนี้ของเรา เราถึงแล้วซึ่งพระสัพพัญญุตญาณตัดขาดวัฏสงสาร กำจัดภพทั้งสาม แล้วจักขึ้นสถิตสำเภาธรรม อันบรรทุกสัตวโลกกับทั้งเทวบริษัททั้งปวงขนส่งให้ลุล่วงข้ามถึงฝั่งแห่งพระนฤพาน

ทีปงฺกโร โลกวิทู ครั้งนั้นสมเด็จพระทีปังกรสัมพุทธเจ้า ครั้นเสด็จมาถึงจึงสถิตอยู่ ณ เบื้องเศียรเกล้าแห่งเรา แล้วมีพระพุทธดำรัสว่า ยถิมสฺส โลกนาถสฺส ถ้าเราท่านทั้งหลายแค้วกลาดจากอมตธรรม ณ สำนักพระบรมโลกนาถองค์นี้แล้ว และท่องเที่ยวอยู่ ณ ภพสงสารนานไปในอนาคตจะมีกาลกำหนดเพียงพุทธศาสนาของพระดาบสนี้เหมือน ๑ บุรุษอันว่ายข้ามมหานที ถึงจะคลาดเคลื่อนจากท่าน้ำเหนือนี้แล้วไซร้ ก็คงจะขึ้นจากท้องนทีได้ ณ ท่าน้ำต่ำลงไปกว่านั้นเป็นอันแท้ ฉันใด เมื่อเราทั้งหลายนี้ แม้คลาดจากศาสนานี้แล้วก็คงจะได้สำเร็จในศานาพระพุทธังกูรเจ้าดาบสนี้เหมือนฉะนั้น.

พระทีปังกรพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์
ครั้นเมื่อสมเด็จพระทีปังกรสัมพุทธเจ้า ตรัสพยากรณ์เราด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็เสด็จพาพระขีณาสวสงฆ์ ๔ แสน ทรงสงเคราะห์ยกทักขิณบาทเบื้องขวาจรดกายเราแล้วก็จรดลเสด็จไป

นรา นาคา จ คนฺธพฺพา ฝ่ายเทพนิกรนาคครุฑมนุษย์คนธรรพ์ต่างก็น้อมนมัสการพระพุทธังกูรดาบสโพธิสัตว์แล้ว ก็เลยหลีกจรดล โดยเสด็จพระพุทธดำเนินไป ครั้นล่วงทัศนวิสัยสมเด็จพุทธองค์สงฆ์บริษัทแล้ว เราสุเมธมหาบุรุษก็อุฏฐาการลุกจากที่นั้น หากประกอบด้วยสุขเพราะมีความปราโมทย์ ทำบัลลังก์สมาธิคำนึงว่า วสีภูโต อหํ ฌาเน เรามีฌานชำนาญดี หมู่อิสีซึ่งมีในหมื่นโลกธาตุจะได้มีฝ่ายอิทธิวิธีอันสามารถเสมอด้วยเราหามิได้ อลภึ อีทิสํ สุขํ เพราะเราได้อาศัยซึ่งอัฏฐสมาบัติธรรมมากอยู่ในสันดาน จึงได้เสวยความสุขสิ้นเสื่อมกายวิการเห็นปานดังนี้

กาลเมื่อเรานั่งบัลลังก์สมาธิอยู่นั้น บรรดาเทพทุกราสีทั่วหมื่นโลกธาตุ มาประสานศัพทนฤนาทก้องซร้องสาธุการถวายพรว่าบรรดาบุพพนิมิตทั้งหลายใดๆ คือ โพธิสัตว์ทรงบัลลังก์สมาธิรำพึงธรรมอันบังเกิดปรากฏแก่โพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายในก่อน ก็นิมิตทั้งหลายเช่นนั้นๆ มีนิมิต คือ ความร้อน ย่อมระงับดับกลับเย็นไปเป็นต้น และนิมิต คือ บรรดาฝูงสัตว์ทั้งหลายที่จุติตายวายชีวิต และสืบปฏิสนธิ ณ ภพใหม่ ในขณะนั้นย่อมไม่มีเป็นปริโยสาน หากปรากฏมีในวันนี้บุพพนิมิตทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนบันดาลแสดงอรรถว่า ธุวํ พุทฺโธ ภวิสฺสสิ พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเที่ยงแท้ มิได้แปรปรวนพิปริต ขอพระองค์จงถือมั่น ผูกพันความพยายามไว้อย่าทำให้ความเพียรนั้นกลับถอยน้อยไป จงทำวิริยบารมีให้ยิ่งใหญ่ทวยเทพทั้งหลายล้วนแซ่ซร้องสาธุการถวายพร โดยบุพพนิมิตรด้วยประการฉะนี้.

จากหนังสือ สัมภารวิบาก